วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2557


วิจัยเรื่อง การศึกษาผลการใช้กิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ตามแนวของ Matal เพื่อพัฒนาทักษะการคิดของเด็กปฐมวัย

Effect of Using the Science Learning Activities Based on Matal Program in Developing the Thinking Skills of Preschool Children
คำสำคัญ(keyword)
การจัดกิจกรรมโดยใช้กิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ตามแนวของMatal การจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์แบบปกติ ทักษะการคิด ความสามารถในการสังเกต ความสามารถในการจำแนก ความสามารถในการแก้ปัญหา เด็กปฐมวัย ปี2543

 ชื่อผู้วิจัย  นิทรา ช่อสูงเนิน 

จากความสำคัญของการจัดกิจกรรมเพื่อฝึกฝนทักษะทางวิทยาศาสตร์และพัฒนาการคิดของเด็กปฐมวัยที่มีความสัมพันธ์กัน ทำให้ผู้วิจัยเกิดความสนใจที่จะศึกษาถึงรูปแบบและแนวทางในการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ที่มีความสอดคล้องเป็นไปได้ในการพัฒนาทักษะการคิดของเด็กปฐมวัยและพบว่า การจัดกิจกรรมตามโปรแกรมการสอนวิทยาศาสตร์แบบ Matal (คำว่า Matal เป็นคำย่อของชื่อโปรแกรมในภาษาฮิบบรู) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์ระดับปฐมวัยและเป็นโครงการร่างระหว่างศูนย์การสอนวิทยาศาสตร์กับกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมของประเทศอิสราเอล โปรแกรมการสอนวิทยาศาสตร์แบบ Matal นี้ เป็นโปรแกรมการสอนวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย (The Matal Early Childhood Science Teaching Program) มีจุดเน้นที่จะสอนวิธีการสอบสวนและสืบสวน รวมทั้งช่วยฝึกให้เด็กเข้าใจกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานและการพิสูจน์ด้วยตนเองว่าความรู้ที่เขาได้มานั้นเป็นความรู้จริง โปรแกรมนี้จะมุ่งเอาตัวเด็กเป็นศูนย์กลาง (Child-centered) โดยจะชี้นำเด็กให้รู้จักวิธีตอบสนองอันดีต่อโลกรอบตัวและต่อตนเองตั้งแต่
โปรแกรม Matal ได้จัดนำเรื่องรอบตัวมาเป็นหน่วยการเรียนรู้สอดแทรกคณิตศาสตร์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นการพัฒนาภาษาโดยเปิดโอกาสให้ใช้ภาษาในการโต้ตอบพูดคุย ซักถาม ผู้วิจัยได้ศึกษาพบว่าโปรแกรม Matal มีจุดเด่นหลายประการ เช่น ในการจัดกิจกรรมแต่ละเรื่องเด็กจะได้เรียนรู้อย่างลุ่มลึก มีการใช้คำถามกับเด็กตลอดเวลาและครูจะไม่ตอบคำถามเด็กทันที แต่มีการย้อนกลับให้เด็กสำรวจเพื่อหาคำตอบได้ด้วยตนเอง คำถามที่ใช้เป็นคำถามที่ทำให้เด็กได้พัฒนาการคิด เช่น ใช้คำถามเพื่อทำนายพยากรณ์อนาคต สิ่งที่จะเกิดขึ้นและคำถามให้เด็กเกิดจินตนาการ จัดสภาพแวดล้อม สื่ออุปกรณ์ให้เด็กสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง เนื้อหาหัวเรื่องที่นำมาเรียนรู้เป็นสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเด็ก จากความสำคัญดังกล่าวทำให้ผู้วิจัยสนใจที่จะนำรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ตามแนวของ Matal มาพัฒนาให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นและห้องเรียน นำกิจกรรมที่สร้างมาใช้ในห้องเรียน ซึ่งผลการวิจัยครั้งนี้จะเป็นแนวทางสำหรับครู ผู้บริหาร ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยได้ใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยต่อไป
แนวคิด(concept)
1. การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
2. ทักษะการคิด
3. ทฤษฎีที่เกี่ยวกับพัฒนาการคิดและสติปัญญา
4. หลักสูตรก่อนประถมศึกษา พุทธศักราช 2540
 5. การจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย
วัตถุประสงค์(objective)

1. เพื่อสร้างและพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาทักษะการคิดของเด็ก ปฐมวัย
2. เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการสังเกต จำแนกและแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัด กิจกรรมวิทยาศาสตร์โดยใช้กิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ตามแนวของ Matal กับการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์แบบปกติ

สมมุติฐาน(assumption)

เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมด้วยกิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ตามแนวของ Matal มีความสามารถในการสังเกต จำแนก และแก้ปัญหาสูงกว่าเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์แบบปกติ

แนวทางการปฏิบัติ(regulation)
การวิจัยเชิงทดลอง
กลุ่มตัวอย่าง(sample)

ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ของโรงเรียนอนุบาลอุดรธานี สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี จำนวน 9 ห้องเรียน นักเรียนทั้งสิ้น 364 คน
 กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ของโรงเรียนอนุบาลอุดรธานี จำนวน 80 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) จับสลากเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 1 ห้องเรียน (ห้องละ 40 คน) ดังนี้

1. จับสลากห้องเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 มา 2 ห้องเรียน จากจำนวนทั้งหมด 9 ห้องเรียน
2. จับสลากเพื่อกำหนดเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม
ตัวแปร(variable)

ตัวแปรต้น คือ การจัดกิจกรรม ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่
1. การจัดกิจกรรมตามกิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ตามแนวของ Matal ที่สร้างขึ้น
2. การจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ตามแนวการจัดประสบการณ์ของสำนักงานคณะกรรมการการ ประถมศึกษาแห่งชาติ

 ตัวแปรตาม ได้แก่ ทักษะการคิด ประกอบด้วย
1. ความสามารถในการสังเกต
2. ความสามารถในการจำแนก
3. ความสามารถในการแก้ปัญหา

คำนิยาม(defination)
การจัดกิจกรรมโดยใช้กิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ตามแนวของ Matal หมายถึง การจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ตามแนวการจัดประสบการณ์ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น โดยพัฒนามาจากแนวการสอนวิทยาศาสตร์ตามโปรแกรมสอนวิทยาศาสตร์ Matal ซึ่งเป็นโปรแกรมที่มุ่งเอาเด็กเป็นศูนย์กลาง (Child centered) ตามโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กเป็นโครงการร่วมระหว่างศูนย์การสอนวิทยาศาสตร์กับกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมของประเทศอิสราเอล ซึ่งโปรแกรมนี้ประกอบไปด้วย 4 หน่วย คือ การสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัว การสัมผัสและการรับรู้ รูปทรงและความสัมพันธ์ การแยกประเภทและการจัดหมวดหมู่

 การจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์แบบปกติ หมายถึง การจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ตามแผนการจัดประสบการณ์ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นโดยยึดแนวทางการจัดประสบการณ์ที่สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติได้เสนอแนะไว้

 ทักษะการคิด หมายถึง ความสามารถในด้านสติปัญญาของเด็กซึ่งผู้วิจัยศึกษาเฉพาะในด้านการสังเกต การจำแนก และการแก้ปัญหา

 ความสามารถในการสังเกต หมายถึง ความสามารถในการใช้ประสาทรับรู้ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวกายอย่างใดอย่างหนึ่งเข้าไปสัมผัสสิ่งต่าง ๆ เพื่อรับรู้รายละเอียดของสิ่งนั้น วัดได้จากแบบทดสอบความสามารถในการสังเกต จำนวน 15 ข้อ

 ความสามารถในการจำแนก หมายถึง ความสามารถในการใช้ประสาทรับรู้ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวกายอย่างใดอย่างหนึ่งในการจัดแบ่งหรือเรียงลำดับสิ่งของโดยมีเกณฑ์ในการจัดแบ่งซึ่งเป็นเกณฑ์ที่เด็กสร้างขึ้นเอง เกณฑ์ที่ผู้อื่นกำหนดให้หรือบอกได้ว่าใช้เกณฑ์ใดในการแบ่ง วัดได้จากแบบทดสอบวัดความสามารถในการจำแนก จำนวน 15 ข้อ
 ความสามารถในการแก้ปัญหา หมายถึง ความสามารถที่ได้จากกระบวนการทำงานของสมอง ซึ่งอาศัยความรู้และประสบการณ์เดิมมาใช้ในการแก้ปัญหา ซึ่งวัดด้วยแบบทดสอบวัดความสามารถในการแก้ปัญหาของเด็กระดับก่อนประถมศึกษาที่กองวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติสร้างขึ้น โดยมีเกณฑ์การให้คะแนนอยู่ 4 ระดับ คือ

 ค่าการประเมินระดับ 3 หมายถึง คำตอบชัดเจนสอดคล้องกับสถานการณ์และมีความเป็นไปได้ ตอบอย่างมีเหตุผล เหมาะสมกับความสามารถตามวัยและประสบการณ์เด็ก ใช้เวลาคิดก่อนตอบไม่เกิน 5 วินาที
 ค่าการประเมินระดับ 2 หมายถึง คำตอบยังไม่ชัดเจน ต้องใช้คำถามชี้นำหรือกระตุ้นเพิ่มเติม
 ค่าการประเมินระดับ 1 หมายถึง คำตอบยังไม่ชัดเจน ตอบไม่ตรงกับคำถาม ตอบแบบเดาสุ่ม
 ค่าการประเมินระดับ 0 หมายถึง เงียบไม่ตอบ หรือตอบว่า “ไม่รู้” “ไม่ได้”
เครื่องมือ(tool)
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย
1. แผนการจัดประสบการณ์จากกิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ตามแนวของ Matal สำหรับ ชั้นอนุบาลปีที่ 2 ซึ่งผู้วิจัยพัฒนาขึ้น
2. แผนการจัดประสบการณ์จากกิจกรรมวิทยาศาสตร์แบบปกติ ตามแนวการจัดประสบการณ์ของ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ
3. แบบทดสอบความสามารถด้านการสังเกต
4. แบบทดสอบความสามารถด้านการจำแนก
5. แบบทดสอบความสามารถด้านการแก้ปัญหา
การรวบรวมข้อมูล(gathering)

ผู้วิจัยได้ทำการทดลองด้วยตนเองกับนักเรียนกลุ่มด้วยตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่มโดยได้ดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้
1. ทดสอบ (Pretest) นักเรียนทั้ง 2 กลุ่ม ในวันแรกของการทดลองด้วยแบบทดสอบวัดความสามารถ ในการสังเกต การจำแนกและการแก้ปัญหา วันละ 1 ฉบับ และตรวจให้คะแนนตามเกณฑ์การให้คะแนน
2. ดำเนินการทดลองตามแผนการจัดประสบการณ์ด้วยกิจกรรมวิทยาศาสตร์ตามแนว Matal และ การจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์แบบปกติของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ
3. เมื่อสิ้นสุดการทดลอง ผู้วิจัยทำการทดสอบหลังการทดลอง (Posttest) โดยแบบทดสอบวัดความ สามารถในการสังเกต การจำแนกและการแก้ปัญหาตามคู่มือดำเนินการสอบวันละ 1 ฉบับ และนำแบบทดสอบมาตรวจให้คะแนนตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในคู่มือการทดสอบ

การวิเคราะห์(analysis)
1. เปรียบเทียบความสามารถในการสังเกต การจำแนก และการคิดแก้ปัญหาก่อนและหลังการจัดกิจ กรรมของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยใช้ t-test (t-test for dependent samples)
 2. เปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยหลังการจัดกิจกรรมระหว่างกลุ่มควบคุม และกลุ่มทดลองโดยใช้ t-test (t-test for independent samples)
ข้อสรุป(summary)
เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ตามแนว Matal มีความสามารถในด้านการจำแนกและการแก้ปัญหาแตกต่างจากกลุ่มที่จัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์แบบปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 แต่มีความสามารถด้านการสังเกตแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
 ผลจากการศึกษาชี้ให้เห็นว่า การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ตามแนว Matal ช่วยกระตุ้นให้เด็กปฐมวัยมีทักษะการคิดสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับครูและผู้เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย ในการนำไปใช้จัดประสบการณ์ให้แก่เด็กได้อย่างมีคุณภาพ
ข้อเสนอแนะ(suggestion)
ข้อเสนอแนะทั่วไป

1. การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ตามแนว Matal เน้นในเรื่องการนำธรรมชาติรอบตัว วัสดุอุปกรณ์ของจริงมาใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ และใช้เทคนิคการใช้คำถามเป็นสิ่งกระตุ้น ดังนั้นจึงสามารถปรับใช้ได้เข้ากับสภาพของทุกท้องถิ่น
2. ในการจัดกิจกรรมซึ่งส่วนมากจะให้เด็กได้สังเกต ศึกษานอกห้องเรียนก่อนออกศึกษานอกสถานที่ ทุกครั้ง ควรมีข้อตกลงระหว่างครูกับเด็กถึงการปฏิบัติตนในการออกนอกสถานที่ ชี้แจงงาน / กิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องปฏิบัติขณะศึกษานอกสถานที่จึงจะทำให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด
3. การจัดกิจกรรมประสบการณ์ต่าง ๆ ให้ได้ผลดีที่สุดนั้น ครูจะต้องมีเทคนิคการใช้คำถามเพื่อ กระตุ้นให้เด็กคิด คำถามที่ใช้ควรเป็นคำถามระดับสูงเพื่อพัฒนาทางด้านการคิดแก้ปัญหา
4. การจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยนั้น ควรเน้นที่ กระบวนการมากกว่าผลผลิต ซึ่งการจัดประสบการณ์ให้เด็กได้รับนั้น ควรเป็นประสบการณ์ตรง เพราะจะช่วยให้เด็กได้วิเคราะห์ทดลองหรือลงมือกระทำด้วยตนเอง ทำให้เด็กได้ค้นพบความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถจดจำได้นาน สามารถส่งเสริมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และพัฒนาการด้านต่าง ๆ ได้
5. ควรจัดกิจกรรมให้หลากหลายเพื่อสนองความสนใจของเด็ก และครูควรกระตุ้นให้เด็กลองทำสิ่ง ใหม่ ๆ ด้วยวิธีการใหม่ ๆ อยู่เสมอ ให้เด็กได้เรียนรู้ตามความสนใจและความต้องการของเด็ก
6. ในการจัดกิจกรรมควรคิดถึงตัวเด็กเป็นสำคัญ โดยกิจกรรมที่จัดนั้นต้องมีหลาย ๆ รูปแบบ ได้แก่ การจัดกิจกรรมให้เด็กทำเป็นรายบุคคลเด็กเลือกทำด้วยตนเอง กิจกรรมให้เด็กทำเป็นกลุ่มเล็กและกิจกรรมรวมกลุ่มใหญ่ นอกจากนั้นควรให้เด็กได้มีโอกาสทำกิจกรรมนอกห้องเรียนด้วย
7. การจัดกิจกรรมสนทนาซักถาม ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกถึงความคิด จินตนาการ ความ เชื่อมั่นและการใช้ภาษาอย่างอิสระจากประสบการณ์และความต้องการของตน โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนในห้องเรียนได้แสดงความคิดเห็นที่มีเหตุผลตามความคิดของตนอย่างอิสระ
 ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป
1. ควรมีการศึกษาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการ เรียนการสอนวิทยาศาสตร์ตามแนว Matal ในกลุ่มเด็กต่างอายุ
2. ควรมีการศึกษาการใช้กิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ตามแนว Matal ในสังกัดหน่วยงาน อื่น ๆ เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กรมการพัฒนาชุมชนหรือศูนย์เด็กก่อนเกณฑ์ของกรมการศาสนา เป็นต้น
3. ควรมีการประยุกต์ใช้กิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ตามแนว Matal โดยจัดเป็นชุดกิจ กรรมฝึกทักษะพื้นฐานวิทยาศาสตร์เบื้องต้นสำหรับเด็กปฐมวัย ทดลองใช้กับเด็กปฐมวัย

 

บันทึกอนุทินครั้งที่ 16

           วิชา การจัดประสบการณ์วิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย (EAED3207)

อาจารย์ผู้สอน  อาจารย์จินตนา  สุขสำราญ

วัน/เดือน/ปี  4 ธันวาคม 2557

เวลาเรียน 08.30-12.20 น.

 

ความรู้ที่ได้

       การเรียนการสอนในวันนี้ เป็นการเรียนการสอนครั้งสุดท้ายของเทอม ในวันนี้เป็นการเก็บตกการนำเสนองานวิจัย 1 คน และได้ทำแผ่นพับ

การนำเสนองานวิจัย (Research Report)

 

 งานวิจัยเรื่อง การส่งเสริมทักษะวิทยาศาสตร์การลงสรุปสำหรับเด็กปฐมวัย         

 ผู้วิจัย      นงลักษณ์ บุญระชัยสวรรค์

                     กิจกรรมไข่หมุน

 ทักษะวิทยาศาสตร์  การสังเกตและการเปรียบเทียบ

      หลังจากการนำเสนอวิจัยเสร็จ อาจารย์ให้ทำแผ่นพับข่าวประชาสัมพันธ์ให้กับผู้ปกครองว่า นักเรียนกำลังเรียนเรื่องอะไร และขอความร่วมมือกับผู้ปกครอง เพื่อส่งเสริมทักษะ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็ก
 
 แผ่นพับหน่วย ปลา
 
 

 
 
 
 
 
 
 
 
 




 
 
 
การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้

 สามารถนำวิจัยที่เพื่อนได้ออกมานำเสนอ ไปประยุกต์ใช้ในการเขียนแผนให้ดีขึ้นได้ และนำแผนการสอน วิธีการสอนไปจัดกิจกรรมให้กับเด็กปฐมวัยได้ ในแผ่นพับที่ทำในวันนี้สามารถนำไปให้ความรู้แก่ผู้ปกครองได้     

การประเมินผล (Evaluation)

ประเมินตนเอง (Self)

       แต่งกายเรียบร้อย เข้าเรียนตรงเวลา ตั้งใจเรียน ตั้งใจฟังอาจารย์สอนและตั้งใจฟังเพื่อนเมื่อเพื่อนออกไปนำเสนอวิจัย ช่วยเพื่อนคิดในการทำแผ่นพับและตกแต่ง
ประเมินเพื่อน

       เพื่อนเข้าเรียนตรงเวลา แต่งกายเรียบร้อย และตั้งใจฟังเพื่อนออกไปนำเสนองานวิจัยและช่วยกันคิดเนื้อหาที่จะเอาใส่แผ่นพับเพื่อให้ออกมาดีที่สุด

ประเมินอาจารย์

     อาจารย์เข้าสอนตรงเวลา  วันนี้เป็นการเรียนการสอนคาบสุดท้าย อาจารย์ให้เกี่ยวกับเรื่องที่เรียนและการนำเสนอของเพื่อน อาจารย์ก็จะคอยพูดเสริมให้ตลอด เพื่อให้เราเข้าใจในเนื้อเรื่องที่สำคัญ   สุดท้ายก่อนเลิกเรียนอาจารย์ให้พรก่อนการสอบซึ่งเป็นพรที่ดีมากๆเพราะความรู้ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับเรา ถ้าเราไม่ขยันเราก็ไม่ได้สิ่งที่เราต้องการ ขอบคุณอาจารย์ที่ให้ความรู้มากมายในการเรียนการสอน

 

                    สรุปนักวิทยาศาสตร์น้อย เรื่องความลับของบ้านกระจก

  ถึงเวลาของนักวิทยาศาสตร์น้อยได้ลองทำดูแล้วค่ะ และน้ำใสๆทั้ง2แก้วนี้เกี่ยวข้องอะไรกับการปวดฟันของเจ้ามังกรก็ต้องติดตามการทดลองกันต่อไป

การทดลอง

-น้องๆคิดว่าอะไรทำให้เจ้ามังกรฟันผุ

-กินน้ำอัดลมเยอะไป

-เพราะความหวาน

-เพราะความซ่า

แล้วน้องๆอยากรู้ไหมว่าสาเหตุจริงๆที่ทำให้ฟันของเราผุเป็นยังไงอยากรู้ไหม ถ้าอยากรู้ต้องลองทำดูไปลองทำดูกันเลย

น้องๆช่วยพี่ดูหน่อยสิว่าในแก้วมีอะไรอยู่ มีน้ำนั้นเองอยากรู้จังเลยว่า น้ำที่อยู่ในนี้เป็นน้ำอะไรนะดูสิน้ำทั้ง 2แก้วมีลักษณะเหมือนกันไหม เด็กๆบอกว่าไม่เหมือน ไม่เหมือนยังไงแก้วที่ 1เป็นน้ำยังไง เด็กบอกว่าน้ำใสกว่า แล้วแก้วที่ 2ล่ะเด็กบอกว่าน้ำขุ่นกว่า เราจะมาใช้การพิสูจน์อีกหนึ่งอย่างนั้นก็คือการ ดมกลิ่น ลองดูสิแก้วที่1แก้วที่2แตกต่างกันอย่างไรบ้าง เด็กบอกว่าแก้วที่2มีกลิ่นกลิ่นเปรี้ยวๆเหมือนมะนาว แก้วที่1ล่ะ ไม่มีกลิ่น เมื่อน้องๆได้พิสูจน์แล้วทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันเลยว่าแก้วใบที่1ไม่มีกลิ่นส่วนแก้วใบที่2มีกลิ่นฉุน กลิ่นเปรี้ยว คล้ายมะนาว แล้วน้องๆคิดว่าแก้วที่1คือน้ำอะไร เด็กๆตอบว่าน้ำเปล่า ทำไมถึงคิดว่าเป็นน้ำเปล่า เด็กๆบอกว่าเพราะมันจืดไม่มีกลิ่น แล้วแก้วที่2ที่เราบอกว่ามีกลิ่นเปรี้ยวๆมีกลิ่นมะนาวมันคือน้ำอะไรนะเด็กตอบว่าน้ำสับปะรด น้ำมะนาวผสมน้ำเปล่า แต่เราจะยังไม่เฉลยตอนนี้ขออุบไว้ก่อนและตอนนี้มีสิ่งหนึ่งมาให้เด็กๆพิสูจน์นั้นก็คือไข่ไก่ ให้น้องเด็กๆลงมือตอกเปลือกไข่ด้วยตนเองจนได้เปลือกไข่2ชิ้นสำหรับการทดลองในขั้นตอนต่อไป เราลองมาดูพอเราเอาเปลือกไข่ใส่ลงไปในแก้วที่1แล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ให้เด็กสังเกตว่าแก้วที่1เป็นอย่างไรพอใส่เปลือกไข่ลงไปแล้ว เด็กๆบอกว่ามันไม่เหมือนเดิมมันใหญ่ขึ้น ลักษณะของน้ำกับเปลือกไข่ล่ะเป็นยังไง เด็กบอกว่าเหมือนเดิม งั้นเรามาดูที่แก้วที่2กันบ้างว่าเจ้าน้ำลึกลับที่อยู่ในแก้วที่2นี่ลองสังเกตดูนะพอเราใส่เปลือกไข่ลงไปในแก้วที่ 2เจ้าน้ำลึกลับของเรามีอะไรแตกต่างจากเดิมไหม เด็กบอกว่ามีฟองขึ้นแล้วฟองมันเกิดขึ้นจากอะไร เด็กบอกว่าน้ำที่มันเปรี้ยวๆ จะเป็นอย่างที่คิดหรือไม่ลองเอาเปลือกไข่ลงไปแช่ในแก้วใบที่2เลย ลองดูสิแตกต่างจากแก้วที่1อย่างไร เด็กบอกว่าแก้วที่1มันเหมือนเดิมแก้วที่2มีฟอง ฟองมันเกิดขึ้นได้อย่างไงนะแล้วทำไมแก้วที่1ถึงไม่มีฟอง เพราะมันเป็นน้ำเปล่าถ้าเราทิ้งเปลือกไข่เอาไว้ในแก้วที่1และแก้วที่2สัก5นาทีมันจะเกิดอะไรขึ้น เด็กๆบอกว่าเปลือกมันอาจลอกขึ้นมาก็ได้ และตอนนี้เราได้เปลือกไข่ออกมาจากแก้วใบที่1และใบที่2เรียบร้อยแล้ว พอเราตักออกมาแล้วแก้วใบที่1และแก้วใบที่2แตกต่างกันอย่างไร สีใบที่1เข้มกว่าใบที่2 ทำไมสีถึงแตกต่างกัน เพราะว่าน้ำแก้วที่1เป็นน้ำธรรมดามันก็ยังสีเข้มอยู่เหมือนเดิมแก้วที่2มันอาจจะเปรี้ยวมันเลยทำให้สีเปลี่ยนแปลงไปแล้วถ้าจะเอาเปลือกไข่แช่ในแก้วที่2หนึ่งวันเด็กๆคิดว่าจะเป็นอย่างไร เด็กๆบอกว่ามันจะสีขาวหมดทั้งใบ วันนี้มีตัวอย่างมาให้ดูให้แช่เปลือกไข่ในน้ำลึกลับเหมือนแก้วใบที่2ไว้หนึ่งวันเต็ม มีสีขาว เปลือกลอยออกมาด้วยเราลองตักเปลือกไข่ออกมา เด็กๆบอกว่ามันนิ่มมากๆเลยเพราะมันอยู่ข้างในหลายวัน

  เรามาเฉลยกันเลยว่าน้ำแก้วที่1และแก้วใบที่2เป็นน้ำอะไร แก้วที่1เป็นน้ำเปล่า ส่วนแก้วที่2เป็นน้ำส้มสายชู เมื่อน้ำส้มสายชูทำปฏิกิริยาเคมีกับเปลือกไข่จึงทำให้เกิดฟองอากาศและเปลือกไข่ที่ละลายในน้ำส้มสายชูได้เป็นเพราะน้ำส้มสายชูมีฤทธิ์เป็นกรด กรดนี้มีชื่อว่า แอซีติกสามารถกัดกร่อนเปลือกไข่ที่มีส่วนประกอบของแคลเซียมได้ส่วนน้ำเปล่ามีค่าเป็นกลางจึงไม่เกิดปฏิกิริยาเคมีกับเปลือกไข่เปลือกไข่จึงอยู่ในสภาพเดิม

 

บันทึกอนุทินครั้งที่ 15

วิชา การจัดประสบการณ์วิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย (EAED3207)

อาจารย์ผู้สอน  อาจารย์จินตนา  สุขสำราญ

วัน/เดือน/ปี  27 พฤศจิกายน 2557

เวลาเรียน 08.30-12.20 น.

เวลาเข้าสอน08.30น.  เวลาเข้าเรียน 08.30น.  เวลาเลิกเรียน 12.20น.

 
 

ความรู้ที่ได้
   การเรียนการสอนในวันนี้ เป็นการนำเสนอวิจัยและโทรทัศน์ครู และเป็นการเรียนการสอนคาบสุดท้ายของเทอม

การนำเสนองานวิจัย (Research Report)
 งานวิจัยเรื่อง การสร้างชุดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย
  -   ทักษะทางวิทยาศาสตร์ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ผ่านประสาทสัมผัส มี 4 ทักษะ
  - การสังเกต
   - การจำแนก
    - การวัด
    - มิติสัมพันธ์
  -   หน่วย สัตว์เลี้ยงแสนดี อุปกรณ์ แผ่นภาพอาหารของสัตว์

          การจัดกิจกรรม
- ครูนำภาพมาให้เด็กดูแล้วถามเด็กว่า สัตว์ไม่ได้กินอาหารจะเป็นอย่างไร


 งานวิจัยเรื่อง ผลการจัดประสบการณ์เน้นวิทยาศาสตร์นอกชั้นเรียนที่มีต่อทักษะการสังเกตของเด็กปฐมวัย
-  ทักษะทางวิทยาศาสตร์    การสังเกต   การประมาณ   การเปลี่ยนแปลง
-   ครูแนะนำกิจกรรม ครูบอกเด็กว่าจะพาไปเที่ยวรอบโรงเรียนให้เด็กส่องสิ่งที่มองเห็น
-   ครูให้เด็กส่องดูผ่านแว่นแล้วมองดูผ่านตา
-   ครูให้เด็กวาดภาพ จากสิ่งที่มองเห็น
-  ครูใช้คำถาม เด็กมองเห็นวัตถุของจริง เด็กมองเห็นเป็นอย่างไร และเด็กมองผ่านแว่นเป็นอย่างไร
-  สรุปลงความเห็นการมองผ่านแว่นขยายและไม่ใช้แว่นขยาย

งานวิจัยเรื่อง การคิดเชิงเหตุผลของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์
-  การคิดเชิงเหตุผล มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และเป็นทักษะพื้นฐาน
-  เปิดโอกาสให้เด็กได้ทดลองโดยผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5
การคิดเชิงเหตุผลมี 3 อย่างคือ
-  การจำแนกประเภท
-  การจัดประเภท
-  ด้านอนุกรม

-  หน่วยสนุกน้ำ
-  หน่วยอากาศแสนสนุก
-  หน่วยพืชน่ารู้
-  หน่วยพลังงานแสนกล
-  หน่วยเรียนรู้ธรรมชาติ
-  หน่วยฉันคือใคร

 งานวิจัยเรื่อง ผลของกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ด้านการจำแนก
-  ทักษะทางวิทยาศาสตร์  การสังเกต การจำแนก การวัด การสื่อความหมาย  การลงความเห็น

มิติสัมพันธ์

การนำเสนอโทรทัศน์ครู
5.   เรื่อง เสียงมาจากไหน
6.   เรื่อง สอนวิทย์คิดสนุกกับเด็กปฐมวัย
7.   เรื่อง เรียนวิทยาศาสตร์สนุก
8.  เรื่อง หน่วยไฟ
9. เรื่อง  ขวดปั๊มและลิปเทียน
10.  บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย เรื่อง สีของกะหล่ำปลี
11.  บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย เรื่อง พลังจิตคิดไม่ซื่อ
12.นมสีจากน้ำยาล้างจานสำหรับเด็กปฐมวัย
13.  บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย เรื่อง  ทะเลฟองสีรุ้ง
14.  สนุกคิดวิทย์ทดลอง
15.  บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย เรื่อง ทอนาโดมหาภัย
16.  บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย เรื่อง  ความลับของใบบัว
17.  การทดลองความแข็งของวัตถุ
 
การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้
สามารถนำวิจัยที่เพื่อนออกมานำเสนอ ไปประยุกต์ใช้ในการเขียนแผนการสอน และวิธีการสอนได้ตรงตามแผนและได้รู้วิธีการทำวิจัยที่เกี่ยวกับเด็กปฐมวัยและนำไปจัดกิจกรรมให้กับเด็กปฐมวัยได้

     สามารถนำโทรทัศน์ครูที่เพื่อนนำเสนอไปจัดกิจกรรมเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ให้เด็กปฐมวัยได้และเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนให้เด็กเกิดการเรียนรู้


การประเมินผล (Evaluation)

ประเมินตนเอง (Self)
 แต่งกายเรียบร้อย เข้าเรียนตรงเวลา ตั้งใจเรียน ตั้งใจฟังอาจารย์สอนและตั้งใจฟังเพื่อนเมื่อเพื่อนออกไปนำเสนอวิจัยและนำเสนอโทรทัศน์ครู และจดบันทึกความรู้ที่ได้จากการนำเสนอของเพื่อน

ประเมินเพื่อน
เพื่อนเข้าเรียนตรงเวลา แต่งกายเรียบร้อย และตั้งใจฟังเพื่อนออกไปนำเนองานวิจัย งานวิจัยของเพื่อนน่าสนใจ ได้ความรู้จากงานวิจัยและโทรทัศน์ที่เพื่อนนำเสนอ

ประเมินอาจารย์
อาจารย์เข้าสอนตรงเวลา  วันนี้เป็นการนำเนอวิจัยและโทรทัศน์ครู เวลาเพื่อนนำเสนอเสร็จอาจารย์ก็จะคอยแนะนำ เพื่อให้เราหาสิ่งที่สำคัญในวิจัยว่าเขาทดลองอย่างไรอาจารย์ก็จะคอยพูดเสริมให้ตลอดเพื่อให้เราเข้าใจมากขึ้น